พบอาจารย์มหา’ลัย เข้าข่ายซื้องานวิจัย 52 ราย น่าสงสัยอีก 160 ราย

กระทรวง อว. เดินหน้าสอบอาจารย์มหาวิทยาลัย ซื้อผลงานวิจัยต่อเนื่อง รายงานผลมาแล้ว 154 แห่ง พบความผิดปกติ จำนวน 52 ราย ใน 19 สถาบัน และน่าสงสัยอีก 160 ราย

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยหลังการประชุม กกอ.ครั้งที่ 3/2566 ซึ่งได้มีการพิจารณาความคืบหน้าในการทำผิดจริยธรรมการตีพิมพ์ผลงานวิจัยของนักวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาที่ตกเป็นข่าวก่อนหน้านั้นว่า

สถาบันอุดมศึกษาต่างให้ความร่วมมือในการรายงานผลการตรวจสอบมาเป็นอย่างดี ขณะนี้มี 154 แห่ง ได้รายงานผลการตรวจสอบมาแล้ว ซึ่งพบนักวิจัยที่ต้องทำการตรวจสอบความผิดปกติ จำนวน 52 ราย ใน 19 สถาบัน ซึ่งทั้งหมดอยู่ในกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง และทางสำนักงานปลัดกระทรวง อว. จะติดตามอย่างใกล้ชิดและให้สถาบันอุดมศึกษา รายงานความคืบหน้าเป็นระยะ ๆ

การศึกษา

ปลัดกระทรวง อว.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ทางสำนักงานปลัดกระทรวง อว. ได้ทำการตรวจสอบคู่ขนานไปกับสถาบันอุดมศึกษา โดยได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล ที่มีข้อสังเกต ที่อาจจะนำไปสู่การผิดจริยธรรมการตีพิมพ์ผลงานวิจัย พบว่ามีนักวิจัยประมาณ 160 ราย ในหลาย ๆ สถาบัน ที่มีข้อสังเกตที่อาจจะนำไปสู่การผิดจริยธรรมการตีพิมพ์ผลงานวิจัย ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มที่ผิดจากการซื้อผลงานวิจัยอย่างชัดเจน และ 2.กลุ่มที่ผลงานผิดปกติที่อาจไม่ได้มาจากการซื้อผลงานวิจัยโดยตรง แต่มาจากเครือข่ายงานวิจัย ทั้งที่นักวิจัยอาจจะทราบหรือไม่ทราบก็ได้

ดังนั้นจึงต้องมีกระบวนการดำเนินการตรวจสอบให้ชัดเจนในแต่ละกรณี โดย กกอ. ได้ให้ทางสำนักงานปลัดกระทรวง อว. ตรวจสอบอย่างรอบคอบอีกครั้ง แล้วจัดส่งข้อมูลให้สถาบันอุดมศึกษาต้นสังกัดตรวจสอบ ซึ่งแน่นอนว่าทั้งสำนักงานปลัดกระทรวง อว. สถาบันอุดมศึกษาและนักวิจัย ต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก

ด้าน ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และเลขานุการ กกอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า เงื่อนไขที่สำนักงานปลัดกระทรวง อว.ใช้ในการตรวจสอบคู่ขนานไปกับสถาบันอุดมศึกษาจะประกอบด้วย 4 ข้อหลัก คือ 1.มีจำนวนบทความในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาสูงผิดปกติ 2.ผลงานตีพิมพ์อยู่ในหลายสาขาและไม่ตรงกับสาขาที่เชี่ยวชาญ 3.ผู้แต่งร่วมในผลงานตีพิมพ์มาจากหลายสาขาและหลายประเทศ 4.ผู้แต่งร่วมในผลงานตีพิมพ์มีความผิดปกติ เช่นตีพิมพ์ในหลายสาขาวิชา เป็นต้น

โดยข้อมูล ข้อสังเกตดังกล่าวของสำนักงานปลัด อว. เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น ที่ไม่ได้หมายถึงว่านักวิจัยดังกล่าว กระทำผิดจริยธรรมการตีพิมพ์ จะให้สถาบันอุดมศึกษาทำการตรวจสอบอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม : เพิ่มโอกาสศึกษาเด็กยากจน 2.5 ล้านคน นำสู่จุดเปลี่ยนประเทศรายสูงใน 20 ปี

เพิ่มโอกาสศึกษาเด็กยากจน 2.5 ล้านคน นำสู่จุดเปลี่ยนประเทศรายสูงใน 20 ปี

เพิ่มโอกาสศึกษาเด็กยากจน 2.5 ล้านคน นำสู่จุดเปลี่ยนประเทศรายสูงใน 20 ปี

กสศ.เปิดข้อมูลเหลื่อมล้ำการศึกษาปี 65 รายได้ครัวเรือนนักเรียนยากจนพิเศษเฉลี่ยเหลือ 34 บาทต่อวัน สวนเงินเฟ้อ ชี้ เพิ่มโอกาสการศึกษาให้เด็กยากจน 2.5 ล้านคน 

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดแถลงข่าวรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2565 นำเสนอแนวโน้มผลกระทบที่เป็นจุดเสี่ยงทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาและข้อเสนอนโยบายสู่การฟื้นฟูระบบการศึกษาไทยให้มีความเสมอภาค โดยพบว่า มีเด็กนักเรียนในระดับการศึกษาภาคบังคับ (อนุบาล-ม.3) จำนวนประมาณ 9 ล้านคน อยู่ในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อปท.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.)

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา รายงานว่า จากการสำรวจสถานการณ์นักเรียนยากจนพิเศษของ กสศ. ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563-2565 พบว่า มีนักเรียนยากจนพิเศษในระดับการศึกษาภาคบังคับเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 มีนักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 994,428 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 มีจำนวน 1,174,444 คน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 มีจำนวน 1,244,591 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 มีจำนวน 1,301,366 คน และล่าสุดในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 มีจำนวนมากถึง 1,307,152 คน

หากพิจารณาโดยใช้รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า มีเด็กและเยาวชนอายุ 3-14 ปี จำนวนกว่า 2.5 ล้านคน อยู่ใต้เส้นความยากจน เนื่องจากมีรายได้ไม่ถึง 2,762 บาทต่อคน/เดือน และหากเปรียบเทียบข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษของ กสศ. ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ถึงปีการศึกษา 2565 พบว่า รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษลดลงมากถึงร้อยละ 5 โดยตัวเลขล่าสุดในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 พบว่ารายได้เฉลี่ยของครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษที่คัดกรองใหม่เฉพาะสังกัด สพฐ. อยู่ที่ 1,044 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นวันละ 34 บาทเท่านั้น ซึ่งมีนักเรียนกว่า 1.3 ล้านคน ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค) จาก กสศ. และนักเรียนยากจนอีก 1.8 ล้านคน กสศ. ได้สนับสนุนผลการคัดกรองให้ต้นสังกัดจัดสรรทรัพยากรเพิ่มเติม